จัดไฟแนนซ์รถยนต์ เช่าซื้อเฮรับ ธปท.ผ่อนเกณฑ์กู้ร่วม

Last updated: 4 ต.ค. 2567  |  101 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จัดไฟแนนซ์รถมือสอง

จัดไฟแนนซ์รถยนต์ เช่าซื้อเฮรับ ธปท.ผ่อนเกณฑ์กู้ร่วม ช่วยลดปฏิเสธสินเชื่อ-แบงก์ลุยปรับระบบ
ธุรกิจเช่าซื้อขานรับ ธปท.แก้เกณฑ์รวมรายได้ “กู้ร่วม” ภายในสิ้นปี’67 นี้ อนุโลมให้คนในครอบครัว-เครือญาติ คาดช่วยผู้ซื้อรถกู้ผ่านมากขึ้น ขณะที่แบงก์เร่งพัฒนาระบบรองรับปรับเงื่อนไขจาก “ผู้ค้ำประกัน” เป็น “ผู้กู้ร่วม” คาดใช้เวลา 6-9 เดือน

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายในเดือน ธ.ค. 2567 ธปท.จะมีการแก้ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ในส่วนของสินเชื่อรถยนต์ ในเรื่องของ “การขอกู้ร่วม” หลังจากได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทางสมาคมธุรกิจเช่าซื้อ ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และเจ้าหนี้เช่าซื้อ สามารถช่วยคลายปัญหาธุรกิจเช่าซื้อได้บางส่วน
“กลุ่มที่ ธปท.ห่วง คือ กลุ่มเปราะบาง รายได้น้อย ซึ่งในตอนต้น การขอกู้ อาจให้ภรรยาขอกู้ แต่รายได้ภรรยาไม่เพียงพอ จึงนำสามีมาค้ำประกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ให้นำรายได้มารวมกัน ถ้าเป็นกรณีอยู่ในครอบครัวเดียวกันไม่เป็นไร สิ่งที่เราไม่อยากเห็น บางทีคนกู้กับคนค้ำ อาจจะแค่ขายของแผงติดกัน ซึ่งอาจจะช่วยโดยไม่รู้ว่าคนกู้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ก็เป็นเหมือนทำร้ายคนค้ำประกัน”
ทั้งนี้ ช่วงที่ประกาศยังไม่ออก แต่ ธปท.จะแจ้งแบงก์ว่า หากจะทำก่อนก็ได้ เพื่อให้เร็ว อย่างไรก็ดี เช่าซื้อภายใต้แบงก์ชาติมีแค่ ประมาณ 65% ของทั้งหมด
นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า อย่างไรก็ดี ปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อเช่าซื้อ จะมาจากปัญหากู้ร่วมน้อยมาก ส่วนใหญ่มาจากปัญหาราคารถมือสอง จึงกระทบกับตลาดรถยนต์โดยรวม ทั้งมือหนึ่งและมือสอง ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แบงก์จึงเพิ่ม Underwriting กระทบทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย
นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การผ่อนเกณฑ์ให้สามารถนำรายได้ของ “ผู้ค้ำประกัน” มานับรวมกับ “ผู้กู้” ได้นั้น เป็นเรื่องที่สมาคมได้หารือกับ ธปท.มาก่อนหน้านี้ โดยภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า จะนำเรื่องและข้อสรุปประเด็นดังกล่าวเข้าคณะกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย (บอร์ด) เพื่อขอมติ จากนั้นจะขอหารือกับ ธปท.อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี การผ่อนเกณฑ์ “กู้ร่วม” เพื่อสามารถรวมรายได้ของคนในครอบครัวและเครือญาติได้นั้น เดิมผู้ประกอบการเช่าซื้อทำอยู่แล้ว แต่จะเป็นในลักษณะ “การค้ำประกัน” แต่ภายใต้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบกำหนดว่า หากนำรายได้มารวมกัน จะต้องเป็น “ผู้กู้ร่วม” เท่านั้น ซึ่ง ธปท.อาจจะอนุโลมหรือแก้เกณฑ์นี้ เช่น ลูกซื้อรถ แต่รายได้ไม่พอ จึงเอารายได้ของพ่อมารวม จากเดิมจะต้องกู้ร่วม แต่สามารถทำในลักษณะค้ำประกันได้
“หากมีการผ่อนคลายเกณฑ์นี้ น่าจะช่วยให้คนที่รายได้ไม่พอ สามารถผ่านการอนุมัติมากขึ้น และอาจจะทำให้หนี้เสียมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องมีการปรับระบบ หรือสัญญาใหม่ และรายละเอียดต่าง ๆ ที่จะต้องพูดคุยเพิ่มเติม ซึ่งเราน่าจะมีการเข้าไปพูดคุยกับ ธปท.อีกรอบ”
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ปกติธนาคารจะนำรายได้ของผู้กู้และผู้ค้ำประกันมารวมกันเป็นปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีรายได้ไม่พอ หรือบางรายเพิ่งเริ่มทำงาน ทำให้รายได้ยังไม่พอในการขอสินเชื่อ อย่างไรก็ดี ช่วงหลังผู้ค้ำประกันไม่ได้เป็นพี่น้องหรือคนในครอบครัว แต่เริ่มเป็นคนรู้จัก หรือข้าราชการ ทำให้ ธปท.และธนาคารคุยกันว่า จะมีการปรับเงื่อนไข หากจะเป็นผู้ค้ำประกัน จะต้องเป็นเครือญาติที่สามารถพิสูจน์ได้ และในอนาคตจะทำเหมือนสินเชื่อบ้านที่เป็นผู้กู้ร่วมได้ โดยแปลงจากผู้ค้ำประกันเป็นผู้กู้ร่วม ซึ่งแบงก์จะต้องพัฒนาระบบรองรับ เนื่องจากธุรกิจเช่าซื้อไม่มีระบบผู้กู้ร่วม จะมีแต่ระบบผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน เป็นสัญญาเดียว
“แบงก์ต้องปรับระบบตั้งแต่ใบสมัครจนถึงระบบอื่น ๆ เพื่อให้สามารถใส่ชื่อผู้กู้ร่วมเพิ่มได้ 1 คน ทั้งนี้ เราพยายามรีบทำให้เสร็จและรีบเริ่ม ถ้าเราทำตรงนี้ได้ ก็ไม่ต้องใช้เป็นผู้ค้ำ ถ้าพร้อมก็เป็นผู้กู้ร่วมดีกว่า มีสิทธิและเสียงเท่ากัน ซึ่งง่ายกว่าและดีกว่า โดยแบงก์พยายามปรับระบบให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-9 เดือน”
นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้ห้ามกู้ร่วม เช่น สินเชื่อบ้านที่มีผู้กู้และผู้กู้ร่วม 1 และ 2 ได้ แต่ปัจจุบันธุรกิจเช่าซื้อจะรวมรายได้ผู้กู้กับคนค้ำประกัน ซึ่งภายใต้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ธปท.ห้ามรวมรายได้ผู้ค้ำประกัน เนื่องจากมองว่าไม่ได้เป็นผู้ช่วยผ่อนค่างวด ซึ่งเป็นการเขียนตามกฎหมาย
อย่างไรก็ดี เมื่อ ธปท.พิจารณาและหลังจากมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการ พบว่า ในสัญญาเช่าซื้อจะไม่มีการระบุการกู้ร่วม และเล่มบัญชีชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ครอบครองระบุได้เพียง 1 คนเท่านั้น ดังนั้น หากเป็นการกู้ร่วมจะทำได้ยุ่งยากมากขึ้น จึงจะผ่อนคลายเกณฑ์ให้สามารถรวมรายได้ของคนในครอบครัวในลักษณะค้ำประกันได้
“ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้มีการส่ง Q&A มาสอบถามผู้ประกอบการเช่าซื้อและมีการพูดคุยมาแล้ว ซึ่ง ธปท.เริ่มเข้าใจในเจตนารมณ์ และบริบทของธุรกิจเช่าซื้อมากขึ้น จึงคาดว่าจะมีการอนุโลมให้สามารถรวมรายได้สำหรับบุคคลในครอบครัวได้โดยไม่จำเป็นต้องกู้ร่วม แต่จะช่วยให้ปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหรือไม่นั้นอาจจะต้องรอติดตาม ซึ่งขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจด้วย”
ขอบคุณข้อมูล หรืออ่านเพิ่มเติม 
Link: อยากจีดไฟแนนซ์รถยนต์มือสอง กับ anantagood

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้